ตำนานทานเจ
ทานเจอย่างมีความหมายมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา
อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่เทศกาลกินเจแล้ว โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 9-17 ตุลาคม ปัจจุบันมีคนเข้าร่วมเทศกาลกินเจมากขึ้นเรื่อยๆ ดูได้จากจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการซื้ออาหารเจ อย่างในปีที่ผ่านมา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ จากตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า มีค่าใช้จ่ายเป็นเงินสะพัดโดยรวมมากถึง 45,081 ล้านบาท
เมื่อลองสอบถามถึงสาเหตุที่คนนิยมกินเจกันมากขึ้นพบว่า นอกจากต้องการทำบุญด้วยการลด ละ เลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์แล้ว กระแสสุขภาพที่กำลังมาแรงก็มีส่วนสำคัญ อาหารเจซึ่งมีส่วนผสมหลักเป็นผักนับเป็นอาหารสุขภาพอย่างหนึ่งจึงได้รับความนิยมตามไปด้วย
หลายๆ คนเข้าร่วมเทศกาลกินเจด้วยเหตุผลต่างกันไป บางคนเข้าร่วม โดยไม่รู้ที่มาที่ไปว่าเทศกาลกินเจมีความเป็นมาอย่างไร ก่อนที่จะเข้าร่วมเทศกาลกินเจในปีนี้ เราจึงอยากขอเชิญชวนคุณมาทำความรู้จักตำนานของอาหารเจกันเสียหน่อย เพื่อให้การกินเจปีนี้มีความหมายมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา
หนึ่งเรื่อง หลายตำนาน
กล่าวกันว่า เทศกาลกินเจเดือนเก้า หรือเทศกาลกินเจ (เก้าอ๊วงเจ หรือ กิวอ๊วงเจ) เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวจีน โดยกำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ ตามปฏิทินจีน รวม 9 วัน 9 คืน ผู้คนส่วนหนึ่งจะไม่กินเนื้อสัตว์ เข้าวัด บำเพ็ญศีลสมาทาน ละเว้นไม่กระทำกิจใด ๆ อันนำมาซึ่งการเบียดเบียนเดือดร้อนให้เกิดแก่สัตว์โลก
ประวัติของเทศกาลกินเจนั้น มีการเล่าขานต่อกันมาหลายเรื่องราว หลายตำนาน ได้แก่
ตำนานที่ 1 รำลึกถึงวีรชนทั้ง 9
ตำนานนี้กล่าวว่า การกินเจเป็นการบำเพ็ญกุศลเพื่อรำลึกถึงวีรชน 9 คน ซึ่งเรียกว่า "หงี่หั่วท้วง" ที่ได้ต่อสู้กับชาวแมนจูผู้รุกรานอย่างกล้าหาญ ถึงแม้ศึกนี้จะพ่ายแพ้และต้องจบชีวิตลงก็ตาม ดังนั้นเมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ที่ได้พลีชีพในครั้งนั้น เพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชำระจิตวิญญาณทำให้เกิดความเข้มแข็งทางร่าง กายและจิตใจ
ตำนานที่ 2 บูชาพระพุทธเจ้า
เชื่อว่าเป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า "ดาวนพเคราะห์" ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ในพิธีกรรมบูชานี้ สาธุชนในพระพุทธศาสนาจะสละเวลาทางโลกมาบำเพ็ญศีล งดเว้นเนื้อสัตว์ และแต่งกายด้วยชุดขาว
ตำนานที่ 3 เล่าเอี๋ย
เมื่อ 1,500 ปีก่อน ณ มณฑลกังไสเป็นดินแดนแห่งความเจริญรุ่งเรือง ฮ่องเต้เมืองนี้มีพระราชโอรส 9 พระองค์ซึ่งเก่งทั้งบุ๋นและบู๊ ทำให้หัวเมืองต่างๆ ยอมสวามิภักดิ์ ยกเว้นแคว้นก่งเลี้ยดที่มีกองกำลังทหารที่เหนือกว่า
ทั้งสองแคว้นทำศึกกันหลายครั้ง จนถึงครั้งที่ 4 แคว้นก่งเลี้ยดชนะ แต่ไม่สามารถบุกเข้าเมืองได้จึงถอยทัพกลับ วันหนึ่งชาวกังไสเริ่มแตกความสามัคคีและเอาเปรียบกัน เทพยดาทราบว่าอีกไม่นานกังไสจะเกิดภัยพิบัติแต่จะพ้นภัยได้หากชาวบ้านสร้างผลบุญของตนเอง วิญญาณของพระราชโอรสองค์โตซึ่งเสียชีวิตในการสงครามจึงรับอาสาจะไปเตือนชาวบ้าน โดยแปลงกายเป็นขอทานโรคเรื้อนไปขอพบเศรษฐีใจบุญลีฮั้วก่าย
เศรษฐีออกมาพบและมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเดินทาง แต่ขอทานไม่ไป และประกาศให้ชาวเมืองถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน หากผู้ใดทำตามจะรอดพ้นจากภัยพิบัติ เมื่อเศรษฐีเริ่มปฏิบัติผู้อื่นจึงปฏิบัติตามจนแพร่หลายไปทั่ว เล่าเอี๋ยเกิดศรัทธาประเพณีกินเจของมณฑลกังไส จึงได้ศึกษาตำราการกินเจของเศรษฐีลีฮั้วก่ายที่บันทึกไว้ แต่ได้ดัดแปลงพิธีกรรมบางอย่างให้รัดกุมยิ่งขึ้นและให้มีพิธียกอ๋องฮ่องเต้ พิธีเชิญพระอิศวรมาเป็นประธานในการกินเจ
ตำนานที่ 4 เล่าเซ็ง
มีชายขี้เมาคนหนึ่งชื่อ เล่าเซ็ง เข้าใจผิดว่า แม่ตนตายไปเพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร จนคืนหนึ่งแม่มาเข้าฝันว่า ตนตายไปได้รับความสุขมาก เพราะกินแต่อาหารเจ และหากลูกต้องการพบให้ไปที่เขาโพถ้อซัว บนเกาะน่ำไฮ้
ครั้นถึงเทศกาลไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมที่เขาโพถ้อซัว เล่าเซ็งจึงขอตามเพื่อนบ้านไปไหว้พระโพธิสัตว์ด้วย โดยเพื่อนบ้านให้เล่าเซ็งสัญญาว่า จะไม่กินเหล้าและเนื้อสัตว์จึงยอมให้ไป แต่ระหว่างทางเล่าเซ็งผิดสัญญา เพื่อนบ้านจึงหนีไป โชคดีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งต้องการไปไหว้พระโพธิสัตว์เช่นกัน เขาจึงขอตามนางไปด้วย เมื่อถึงเขาโพถ้อซัว ขณะที่เล่าเซ็งก้มลงกราบพระโพธิสัตว์อยู่นั้น เขาก็เห็นแม่ลอยอยู่เหนือกระถางธูป แต่คนอื่นมองไม่เห็น
ขณะเขาเดินทางกลับ ได้เจอกับเด็กชายยืนร้องไห้อยู่ จึงเข้าไปถามไถ่จนทราบว่า เด็กคนนั้นเป็นลูกชายของเขากับภรรยาเก่าที่เลิกกันไปนานแล้ว เขาจึงพาไปอยู่ด้วย และต่อมาหญิงสาวที่นำทางเล่าเซ็งไปพบพระโพธิสัตว์ได้มาขออยู่ด้วย ทั้งสามอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข หญิงสาวคนนั้นเป็นสาวบริสุทธิ์ มีความประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม และถือศีลกินเจอยู่เป็นประจำ นางรู้ว่าใกล้ถึงวันตายของนางแล้ว จึงบอกเล่าเซ็ง เมื่อถึงวันนั้นนางแต่งตัวด้วยอาภรณ์ขาวสะอาด นั่งสักครู่แล้วก็สิ้นลม เล่าเซ็งเห็นการจากไปด้วยดีของนางคล้ายกับแม่ จึงเกิดศรัทธา ยกสมบัติให้ลูกชาย แล้วประพฤติตัวใหม่ เมื่อตายไปจะได้บังเกิดผลเช่นเดียวกับแม่ และหญิงสาว ประเพณีกินเจจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้น
ตำนานที่ 5 ประเพณีกินเจที่ภูเก็ต
ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่า “ประเพณีกินผัก” หรือ “เจี่ยะฉ่าย” ที่มาของประเพณีกินผักในภูเก็ต สันนิษฐานว่ามาจากคณะงิ้วที่นำการกินเจมาเผยแพร่ โดยเกิดขึ้นที่หมู่บ้านไล่ทูหรือกะทู้ในปัจจุบัน
ในตอนนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูของการทำเหมืองแร่ดีบุก มีคนจีนจากแถบฮกเกี้ยน ซัวเถา และเอ้หมึงอพยพเข้ามาเป็นแรงงานขุดแร่ที่หมู่บ้านกะทู้เป็นจำนวนมาก สภาพของหมู่บ้านยังเป็นป่าทึบ จึงมีไข้ป่าและโรคภัยไข้เจ็บสารพัด
ต่อมามีคณะงิ้วจากประเทศจีนมาเปิดการแสดงที่หมู่บ้านกะทู้ หลังจากเปิดการแสดงระยะหนึ่งเกิดโรคระบาด ทำให้คณะงิ้วนึกขึ้นมาได้ว่าพวกตนไม่ได้ประกอบพิธีเจี่ยะฉ่าย(กินผัก) ซึ่งเคยปฏิบัติมาทุกปีที่เมืองจีน จึงประกอบพิธีเจี่ยะฉ่ายขึ้นที่โรงงิ้ว และสร้างศาลเจ้าขึ้น ปรากฏว่าโรคระบาดก็หายไปสิ้น ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสจึงปฏิบัติตาม นับเนื่องจากนั้นก็มีผู้ศรัทธามากขึ้นเรื่อยๆ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ
แม้ว่าในตำนานเทศกาลกินเจที่กล่าวมา จะไม่มีอะไรบ่งบอกได้ชัดเจนว่า เรื่องไหนเป็นตำนานที่แท้จริง แต่ทุกตำนานล้วนเกิดจากความเชื่อมั่นศรัทธาในการทำความดี เราจึงควรสืบสานปณิธานนี้ ต่อไปเพื่อสร้างสุขให้กับกาย และใจของเรา
ที่มา :
ขวัญใจ เอมใจ. (12: 141(พ.ย.)2539). พิธีกินเจเมื่อโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์คือดินแดนเดียวกัน. สารคดี, 133-150.
ไชยยุทธ ปิ่นประดับ. (2540). ประเพณีกินผัก. ภูเก็ต: สภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต.
ถาวร สิกขโกศล. (2557). เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. กรุงเทพฯ: มติชน.